หน่วยรับข้อมูล
หน่วยรับข้อมูล (Input Unit) เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลหรือชุดคำสั่งเข้ามายังระบบเพื่อให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลต่อไปได้ ซึ่งอาจเป็นตัวเลข ตัวอักษร ภาพกราฟิก เสียง หรือวิดีโอ เป็นต้น อุปกรณ์นำข้อมูลเข้าที่พบเห็นได้ในปัจจุบันพอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้
- อุปกรณ์แบบกด (Keyed Device)
1.1 คีย์บอร์ด (Keyboard) เป็นอุปกรณ์นำข้อมูลเข้าที่นิยมใช้กันมากที่สุดและพบเห็นในการใช้งานทั่วไป โดยรับข้อมูลป้อนเข้าที่เป็นตัวอักษร อักขระพิเศษ ตัวเลข รวมถึงชุดคำสั่งต่าง ๆ ตัวอุปกรณ์จะมีกลุ่มของแป้นพิมพ์วางเรียงต่อกันเหมือนกับเครื่องพิมพ์ดีด ผู้ใช้งานสามารถเลือกกดปุ่มใด ๆ ได้ทันที โดยข้อมูลทั้งหมดที่ป้อนเข้ามาจะถูกส่งเข้าไปเก็บยังหน่วยความจำของระบบและแปลงให้เป็นรหัสที่คอมพิวเตอร์เข้าใจเสียก่อน จากนั้นจึงจะนำไปประมวลผลต่อไป ปัจจุบันอาจพบเห็นคีย์บอร์ดประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
(1) คีย์บอร์ดมาตรฐาน ( Standard keyboard ) เป็นคีย์บอร์ดที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป มีลักษณะคล้ายกับแป้นพิมพ์บนเครื่องพิมพ์ดีด โดยปกติจะประกอบด้วยกลุ่มของแป้นพิมพ์หลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- แป้นพิมพ์ตัวอักขระ ( alphabetic key ) เป็นกลุ่มของแป้นพิมพ์ซึ่งมีบริเวณใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยแผงอักขระสำหรับการป้อนข้อมูลที่มีทั้งตัวอักษร ตัวเลขและอักขระแบบพิเศษทั่วไป
- แป้นสำหรับควบคุมทิศทาง ( cursor-movement key ) เป็นกลุ่มของแป้นพิมพ์สำหรับควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของเคอร์เซอร์และเปลี่ยนจุดหรือบริเวณการทำงาน
- แป้นฟังก์ชัน ( function key ) เป็นกลุ่มของแป้นพิมพ์สำหรับการเลือกคำสั่งลัดที่มีอยู่ในบางประเภท แป้นเหล่านี้จะอยู่บนแถวแรกสุดของคีย์บอร์ด
- แป้นควบคุม ( control key ) เป็นกลุ่มของแป้นพิมพ์สำหรับสั่งการบางอย่างร่วมกับปุ่มอื่น ๆ บางครั้งนิยมเรียกว่า modifier keysเช่น Ctrl , Alt , Shift เป็นต้น
- แป้นป้อนข้อมูลตัวเลข ( numeric keypad ) เป็นกลุ่มของแป้นพิมพ์สำหรับการป้อนค่าข้อมูลที่เป็นตัวเลขเพื่อช่วยในการบันทึกข้อมูลเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น การป้อนข้อมูลเพื่อคำนวณหรือหาผลลัพธ์ทางบัญชี
(2) คีย์บอร์ดติดตั้งภายใน ( Built-in keyboard ) เป็นคีย์บอร์ดที่ปรับขนาดของแป้นพิมพ์ให้เล็กลง พบเห็นในการใช้งานกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ประเภทพกพา เช่น โน๊ตบุ๊คหรือเดสก์โน๊ต ซึ่งมีพื้นที่ในการใช้งานค่อนข้างจำกัด แป้นพิมพ์นี้จะถูกติดตั้งมาพร้อมกับการผลิตเครื่องอยู่แล้ว
(3)คีย์บอร์ดเออร์โกโนมิกส์ ( Ergonomic keyboard ) เป็นคีย์บอร์ดที่มีการออกแบบโดยคำนึงถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นหลัก เนื่องจากการป้อนข้อมูลเป็นเวลานาน ๆ อาจจะทำให้เกิดความเมื่อยล้าจากการพิมพ์จนเกิดการบาดเจ็บเนื่องจากเส้นอักเสบได้ จึงมีการออกแบบแป้นพิมพ์ใหม่ เช่น เพิ่มอุปกรณ์สำหรับการวางมือและออกแบบทิศทางสำหรับการจัดวางแป้นพิมพ์ใหม่ให้สัมพันธ์กับสรีระของมนุษย์มากขึ้น ปัจจุบันจะพบเห็นคีย์บอร์ดชนิดนี้เข้ามาแทนที่คีย์บอร์ดมาตรฐานกันมากขึ้น เนื่องจากช่วยลดปัญหาในเรื่องการบาดเจ็บของข้อมือได้เป็นอย่างดี
(4) คีย์บอร์ดไร้สาย ( Cordless keyboard ) คีย์บอร์ดแบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป อาจไม่มีความสะดวกสบายมากพอเมื่อต้องการใช้งานในระยะที่ไกลจากโต๊ะทำงาน อีกทั้งการดึง ย้าย หรือเปลี่ยนที่ของอุปกรณ์ยังทำให้เกิดความยุ่งยาก เนื่องจากตัวสายของคีย์บอร์ดเชื่อมต่ออยู่กับตัวเครื่องตลอดเวลา เมื่อเกิดหลุดก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นเพื่อสร้างคีย์บอร์ดแบบใหม่ที่อาศัยการส่งผ่านข้อมูลโดยเทคโนโลยีไร้สายขึ้นและทำงานโดยใช้พลังงานแบตเตอรี่แทน ทำให้สามารถย้ายคีย์บอร์ดไปวางยังตำแหน่งใด ๆ ที่อยู่ในรัศมีของสัญญาณนอกเหนือจากโต๊ะทำงานได้
(5)คีย์บอร์ดพกพา ( Portable keyboard ) เมื่ออุปกรณ์ประเภทเครื่องพีดีเอได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น การทำงานบางอย่างที่ต้องอาศัยการป้อนข้อมูลเข้าไป เช่น พิมพ์ข้อความรายงาน จดหมายหรือบันทึกการประชุม จะเกิดความไม่สะดวก เพราะตัวเครื่องมีขนาดเล็ก หากใช้ปากกาช่วยเขียนก็จะทำได้ช้ากว่า จึงมีการสร้างคีย์บอร์ดที่สามารถพกพาไปยังที่ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เพียงแค่กางออกมาก็สามารถใช้ได้เหมือนกับคีย์บอร์ดปกติ
(6) คีย์บอร์ดเสมือน ( Virtual keyboard ) เป็นอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับใช้ร่วมกับเครื่องพีดีเอเช่นเดียวกันกับคีย์บอร์ดพกพา แต่ต่างกันตรงที่มีการจำลองภาพให้เป็นเสมือนคีย์บอร์ดจริง โดยอาศัยการทำงานของแสงเลเซอร์ยิงลงไปบนโต๊ะหรืออุปกรณ์รองรับสัญญาณที่เป็นพื้นผิวเรียบ เมื่อต้องการใช้งานก็สามารถพิมพ์หรือป้อนข้อมูลที่เห็นเป็นภาพเหมือนแผงแป้นพิมพ์นั้นเข้าไปได้เลย ตัวรับแสงในอุปกรณ์จะตรวจจับได้เองว่าผู้ใช้วางนิ้วไหนไปกดตรงตัวอักษรใด
- อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (Pointing Device)
2.1 เมาส์ ( Mouse ) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ชี้ตำแหน่งการทำงานรวมถึงสั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำงานบางคำสั่งที่มีการโต้ตอบกันระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ โดยใช้มือเป็นตันบังคับทิศทางและใช้นิ้วสำหรับการกดเลือกคำสั่งงาน สามารถพบเห็นได้ 2 ประเภท ดังนี้
เมาส์แบบทั่วไป ( Mechanical mouse ) เป็นเมาส์ที่ได้รับการออกแบบโดยใช้ลูกบอลเป็นตัวจับทิศทางที่เมาส์เลื่อนไป ลูกบอลของเมาส์มีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ ทำจากยางกลิ้งอยู่ด้านล่าง ซึ่งจะลากผ่านแผ่นรองเมาส์ ( mouse pad ) และกลไกภายในจะจับได้ว่ามีการเลื่อนไปมากน้อยแค่ไหนและในทิศใด สำหรับส่วนบนจะมีปุ่มให้เลือกกดประมาณ 2-3 ปุ่ม ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต บางแบบอาจมีปุ่มล้อที่หมุน ( scroll ) และกดได้เพื่อควบคุมการทำงานขึ้นลงของสโครลบาร์ในหน้าต่างโปรแกรมบางประเภท
เมาส์แบบแสงหรือออปติคอลเมาส์ ( Optical mouse ) การใช้เมาส์แบบทั่วไปที่ใช้ลูกบอล มีข้อเสียคือ เมื่อใช้ไปนาน ๆ ลูกบอลจะกลิ้งผ่านและเก็บเอาฝุ่นละอองเข้าไปด้วย ฝุ่นเหล่านี้จะจับตัวกันหนาขึ้น ส่งผลให้กลไกในการทำงานผิดเพี้ยนไปมาก จึงมีการสร้างเมาส์แบบใหม่ขึ้นมาเรียกว่า เมาส์แบบแสง หรือ ออปติคอลเมาส์ เพื่อใช้แก้ปัญหานี้ เมาส์แบบใหม่นี้ทำงานได้โดยไม่ต้องใช้ล้อหมุนแต่ใช้แสงไปกระทบพื้นผิวด้านล่าง วงจรภายในจะวิเคราะห์แสงสะท้อนที่เปลี่ยนไปเมื่อเลื่อนเมาส์และแปลงทิศทางเป็นการชี้ตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันมีทั้งที่เป็นแบบต่อกับคอมพิวเตอร์โดยใช้สายและแบบไม่ใช้สาย
2.2 ลูกกลมควบคุม (Track ball) เป็นอุปกรณ์ที่มีหลักการทำงานคล้ายกับเมาส์ โดยมีลูกบอลติดตั้งไว้ส่วนบนเพื่อใช้สำหรับควบคุมทิศทาง เมื่อผู้ใช้หมุนลูกบอลก็คือการย้ายตำแหน่งตัวชี้นั่นเอง ลักษณะของลูกบอลมีขนาดใหญ่กว่าเมาส์มาก ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ติดตั้งแยกต่างหาก เพื่อช่วยให้การทำงานกับคอมพิวเตอร์แบบพกพาสะดวกมากยิ่งขึ้น ในบางรุ่นอาจติดตั้งแทรคบอลอยู่ไว้ภายในด้วย แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้กันแล้ว
2.3 แท่งชี้ควบคุมหรือพอยติงสติ๊ก ( Pointing stick ) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับชี้ตำแหน่งข้อมูลเช่นเดียวกัน มีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ คล้ายกับยางลบดินสอ จะติดตั้งอยู่ตรงส่วนกลางของแป้นพิมพ์ในคอมพิวเตอร์แบบพกพา การควบคุมทิศทางของตัวชี้จะใช้นิ้วมือเป็นตัวบังคับเพื่อเลื่อนทำงานเช่นเดียวกัน โดยเมื่อดันให้แท่งนี้โยกไปทิศทางใด ลูกศรบนจอก็จะเลื่อนไปในทิศทางนั้น
2.4 จอยสติ๊ก ( Joystick ) เป็นอุปกรณ์ที่พบเห็นได้กับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเกมคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการใช้เมาส์เพื่อบังคับทิศทางนั้นอาจไม่รองรับกับรูปแบบของบางเกมได้ จึงนำเอาจอยสติ๊กมาใช้แทน เช่น การบังคับทิศทางซ้าย ขวา หน้า หลัง หรือบังคับทิศทางในระดับองศาที่แตกต่างกันในการควบคุมอากาศยานหรือท่าต่อสู้ของตัวละคร ซึ่งทำให้เกมมีความสมจริงมากกว่าการใช้เมาส์นั่นเอง
2.5 แผ่นรองสัมผัสหรือทัชแพด ( Touch pad ) เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบาง ๆ ติดตั้งไว้อยู่ในคอมพิวเตอร์แบบพกพา เพื่อใช้ทำงานแทนเมาส์ เมื่อกดสัมผัสหรือใช้นิ้วลากผ่านบริเวณดังกล่าวก็สามารถทำงานแทนกันได้ โดยมากจะติดตั้งไว้บริเวณด้านล่างของแป้นพิมพ์
2.6 จอสัมผัสหรือทัชสกรีน ( Touch screen ) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้นิ้วมือแตะบังคับหรือสั่งการไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เมาส์หรือแป้นพิมพ์ มักพบเห็นได้ตามตู้ให้บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ตู้ ATM บางธนาคาร เครื่องออกบัตรโดยสาร รถไฟฟ้า หรือพบเห็นในตู้เกมบางประเภท เช่น เกมประเภทจับผิดภาพ เกมประเภททำนายดวงชะตา เป็นต้น
2.7 พวงมาลัยพังคับทิศทาง (Wheel) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับการเล่นเกมเหมือนกับจอยสติ๊ก พบเห็นได้กับเกมจำลองประเภทแข่งรถหรือควบคุมทิศทางของยานพาหนะ มีลักษณะเหมือนกับพวงมาลัยบังคับทิศทางในรถยนต์จริง เพื่อให้เกมจำลองนั้น ๆ มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น อาจมีการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เหยียบเบรกจำลอง ( pedal ) และตัวเร่งความเร็วจำลอง ( accelerator ) ด้วย
- ประเภทปากกา (Pen-Based Device )
3.1 ปากกาแสง ( Light pen ) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการกำหนดตำแหน่งบนจอภาพรวมถึงการป้อนข้อมูลเข้าแทนแป้นพิมพ์ เอามาใช้เขียนหรือวางตำแหน่งบนจอภาพคอมพิวเตอร์ประเภทที่ใช้หลอดภาพหรือ CRT ได้เลย มักใช้ร่วมกับโปรแกรมประเภทช่วยการออกแบบหรือ CAD (computer aided design) เพื่อให้การทำงานมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถลากหรือวาดทิศทางได้ง่าย แต่มีความละเอียดแม่นยำไม่สูงนัก เพราะถูกจำกัดด้วยความละเอียดของจอภาพ ปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง
3.2 ดิจิไทเซอร์ ( Digitizer ) หรืออุปกรณ์อ่านพิกัด มักใช้ร่วมกับอุปกรณ์ประเภทปากกาหรือในงานความละเอียดสูงจะใช้กับหัวอ่านที่เป็นกากบาทเส้นบาง ( crosshair ) เพื่อให้ชี้ตำแหน่งโดยละเอียด ทำหน้าที่เป็นเสมือนกระดานรองรับการเขียนข้อความ วาดภาพหรือออกแบบงานที่เกี่ยวกับกราฟิกเป็นหลัก ทำให้มีความคล่องตัวและสะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
3.3 สไตลัส ( Stylus ) เป็นอุปกรณ์ประเภทปากกาป้อนข้อมูลชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เช่น พีดีเอ แท็บเล็ตพีซี หรืออาจพบเห็นในสมาร์ทโฟนบางรุ่น ผลิตมาเพื่อใช้เขียนหนังสือด้วยลายมือหรือวาดเส้นลงบนหน้าจออุปกรณ์ได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่อำนวยความสะดวกในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยจะทำหน้าที่แปลงรหัสในการเขียน (ที่คล้ายจดชวเลขในสมัยก่อน) ไปเป็นตัวอักษรที่คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลและใช้งานต่อได้ทันที เช่น นำไปจัดเก็บในสมุดรายชื่อ หรือเก็บบันทึกข้อความที่เขียนไว้เป็นไฟล์เพื่อเรียกใช้งานต่อไป
- ประเภทข้อมูลมัลติมีเดีย( Multimedia Input Device)
4.1 ไมโครโฟน ( Microphone ) เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลประเภทเสียงพูด ( Voice ) เข้าสู่ระบบ ใช้บันทึกหรืออัดข้อมูลเสียงในสตูดิโอหรือตามบ้านทั่วไป การทำงานจะใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์ด้านมัลติมีเดีย นอกจากนี้ไมโครโฟนยังสามารถใช้ร่วมกับระบบจดจำเสียงพูดหรือ voice recognition (แต่ในขณะนี้ยังไม่สนับสนุนเสียงภาษาไทย) เพื่อทำงานบางอย่างได้ เช่น ใช้เสียงพูดผ่านไมโครโฟนเข้าไปแทนการพิมพ์ข้อมูลรายงานได้เลย โดยที่คอมพิวเตอร์จะทำการแปลงความหมายและประมวลผลผ่านเสียงที่ผ่านเข้ามาเป็นตัวอักษรโดยอัตโนมัติ เป็นต้น
4.2 กล้องถ่ายวิดีโอดิจิตอล ( Digital Video camera ) เรียกย่อ ๆ ว่ากล้องประเภท DV ซึ่งเป็นกล้องวิดีโอแบบดิจิตอลนั่นเอง กล้องประเภทนี้สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวและบันทึกเก็บหรือโอนถ่ายลงคอมพิวเตอร์ได้เช่นเดียวกัน แต่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่พอสมควร โดยมากจะบันทึกลงเทปขนาดเล็กในรูปแบบดิจิตอลก่อน (บางรุ่นอาจลงแผ่น CD-R หรือ DVD-R ที่บันทึกได้แทน) จากนั้นจะถ่ายโอนวิดีโอไปลงคอมพิวเตอร์ หรือจะเรียกดูภายหลังจากในกล้องก็ได้
4.3 กล้องถ่ายรูปดิจิตอล ( Digital camera ) เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลประเภทภาพถ่ายดิจิตอล ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาของกล้องประเภทนี้ถูกลงและสามารถบันทึกเก็บหรือถ่ายโอนลงคอมพิวเตอร์ได้โดยง่าย อีกทั้งภาพถ่ายที่ได้ในกล้องบางรุ่นยังมีความละเอียด ความคมชัดเทียบเคียงหรือมากกว่ากล้องธรรมดาบางรุ่น หรือหากจะนำไปอัดขยายต่อเป็นภาพถ่ายปกติก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
4.4 เว็บแคม ( Web cam ) เป็นกล้องถ่ายวิดีโออีกประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน แต่ภาพที่ได้จะหยาบและมีขนาดไฟล์เล็กกว่ากล้องแบบ DV มาก จึงนิยมใช้สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลลงบนอินเทอร์เน็ตหรือนำไปใช้ประโยชน์กับโปรแกรมสนทนาบนเว็บบางประเภท เพื่อให้เห็นหน้าตาของคู่สนทนาระหว่างที่พิมพ์โต้ตอบกัน ปัจจุบันเว็บแคมมีราคาถูกลงอย่างมาก และยังสามารถบันทึกได้ทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งด้วย
- ประเภทสแกนและอ่านข้อมูลด้วยแสง(Scanner and Optical Reader)
5.1 สแกนเนอร์ (Scanner ) เป็นอุปกรณ์อ่านข้อมูลประเภทภาพถ่าย โดยผู้ใช้เพียงแค่วางภาพถ่ายหรือเอกสารลงไปบนแท่นวางแล้วสั่งให้เครื่องอ่านหรือสแกน ก็สามารถเก็บรูปภาพหรือเอกสารสำคัญต่าง ๆ เหล่านั้นไว้ในคอมพิวเตอร์ได้ หลักการทำงานจะเหมือนกับเครื่องถ่ายเอกสารคือ ใช้ลำแสงกวาดแผ่นกระดาษหรือเอกสารนั้น แล้วส่งภาพเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อแปลงเป็นสัญญาณดิจิตอลและเรียกใช้ต่อไป
5.2 โอเอ็มอาร์ ( OMR – Optical Mark Reader ) เป็นเครื่องที่นำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจข้อสอบหรือคะแนนของกลุ่มบุคคลจำนวนมาก เช่น การสอบเอ็นทรานซ์ การสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ การสอบเข้ารับราชการของสำนักงาน ก.พ. โดยจะอ่านเครื่องหมาย ( Mark ) ที่ผู้เข้าสอบได้ระบายไว้ในกระดาษคำตอบ ซึ่งโดยปกติจะต้องใช้ดินสอที่มีความเข้มมากพอที่จะให้เครื่องอ่านได้ (ปกติจะอยู่ที่ความเข้มระดับ 2 B ขึ้นไป) หากใช้ดินสอที่มีความเข้มต่ำกว่าระดับที่กำหนด อาจทำให้เครื่องไม่สามารถอ่านได้ชัดเจน
5.3 เครื่องอ่านบาร์โค้ด ( Bar code reader ) ตัวเลขของรหัสสินค้าที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลของระบบสินค้าคงคลังจะมีจำนวนหลักค่อนข้างมาก เมื่อต้องการเรียกใช้หรือตรวจสอบโดยการป้อนข้อมูลผ่านแป้นพิมพ์จะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย (เช่น ป้อนตัวเลขผิด) จึงเกิดแนวความคิดในการพิมพ์รหัสสินค้าออกมาเป็นรหัสแท่งสีดำและขาวต่อเนื่องกันไปเรียกว่า บาร์โค้ด ( bar code ) ซึ่งนำไปใช้พิมพ์แทนรหัสตัวเลขของสินค้าอุปโภค บริโภคทั่วไป เพื่อสะดวกต่อการตรวจเช็คข้อมูลสินค้าคงเหลือรวมไปถึงการคิดเงินนั่นเอง เครื่องที่อ่านรหัสนี้เราเรียกว่า เครื่องอ่านบาร์โค้ด ( bar code reader ) มีหลายรูปแบบ เช่น หัวอ่านมีด้ามจับคล้ายปืน หรือบางแบบก็ฝังในแท่นของเครื่องเก็บเงินสดเลย พบเห็นได้ตามจุดบริการขาย ( POS – Point Of Sale ) ในร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป
5.4 เอ็มไอซีอาร์ ( MICR – Magnetic-Ink Character Recognition ) เรียกย่อ ๆ ว่าเครื่อง เอ็มไอซีอาร์ ( MICR – Magnetic-Ink Character Recognition ) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่านตัวอักษรด้วยแสงของเอกสารสำคัญ เช่น เช็คธนาคาร ซึ่งมีการพิมพ์หมายเลขเช็คด้วยผงหมึกสารแม่เหล็ก ( magnetic ink ) เป็นแบบอักษรเฉพาะ มีลักษณะเป็นลายเส้นเหลี่ยม (ดังรูป) พบเห็นได้ในการประมวลผลเช็คสำหรับธุรกิจด้านธนาคาร
- ประเภทตรวจสอบข้อมูลทางกายภาพ (Biometric Input Device )
ไบโอเมตริกส์ ( biometric ) เป็นลักษณะของการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวบุคคลเฉพาะอย่าง เช่น ลายนิ้วมือ รูปแบบของม่านตา (เรตินา – ratina ) ฝ่ามือ หรือแม้กระทั่งเสียงพูด ซึ่งนำมาใช้กับงานป้องกันและรักษาความปลอดภัยในหน่วยงานที่ต้องการความปลอดภัยในระดับสูง เนื่องจากระบบการตรวจสอบประเภทนี้จะปลอมแปลงได้ยาก เครื่องที่ใช้อ่านข้อมูลพวกนี้จะมีอยู่หลายประเภทขึ้นอยู่กับลักษณะการตรวจสอบ เช่น เครื่องอ่านลายนิ้วมือ เครื่องตรวจม่านตา เครื่องวิเคราะห์เสียงพูด เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น